โรคภูมิแพ้อากาศ สาเหตุการเกิดและวิธีการรักษา

302

โรคภูมิแพ้อากาศ หรือ โรคภูมิแพ้จมูก (Allergic Rhinitis) เป็นอาการที่ผู้ป่วยที่มีปฎิกิริยาไวต่อสารเกิดภูมิแพ้ที่ลอยอยู่ในอากาศเช่น ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ไรฝุ่น กลิ่น เมื่อหายใจเอาสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลินอี (Immunoglobulin E: IgE) ทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมี Histamine, Prostaglandin มาต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ที่สูดเข้าไป แล้วทำให้เกิดอาการไอ คัดจมูก มีน้ำมูก โรคนี้มีโอกาสพบได้ทุกเพศทุกวัย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี เมื่ออายุมากขึ้นก็จะพบน้อยลง

โรคภูมิแพ้อากาศ

อีกกรณีอาจเกิดจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งอากาศร้อน เย็น หรือความชื้น จมูกผู้ป่วยที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงแล้วปรับตัวไม่ทัน ทำให้ระบบหายใจทำงานไม่ปกติ แล้วมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น สำหรับในช่วงฤดูหนาวจะมีเกสรดอกไม้ผลิออกมาและลมที่พัดแรงจะทำให้เกสรเหล่านี้กระจายไปทั่วในอากาศ ผู้ป่วยจึงได้รับผลกระทบนั้น รวมทั้งอากาศที่แห้งในฤดูหนาวก็ทำให้ผู้ที่ผิวแห้งตามธรรมชาติเกิดอาการคัน เป็นผื่น เป็นขุย

วิธีการรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ

ยังไม่มีวิธีใดรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเป็นๆหายๆ และจะเป็นมากเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ การรักษาจึงรักษาตามอาการที่เป็น และการใช้ยาก็ใช้ตามอาการผู้ป่วย ซึ่งแบ่งยาที่ใช้รักษาได้ดังนี้

1. ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroids) มีทั้งแบบพ่นจมูกและแบบกิน

1.1 แบบพ่นจมูกใช้รักษาโรคภูมิแพ้ที่จมูกได้ดีทุกอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยาจะออกฤทธิ์ช้าภายใน 7-8 ชั่วโมง มีบางรายจะออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมง ยาจะออกฤทธิ์เฉพาะที่และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อย จึงมีผลข้างเคียงน้อย แพทย์จึงพิจารณาให้ยาตัวนี้แก่ผู้ป่วยเป็นอันดับแรกๆ

1.2 แบบกิน ใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์แบบพ่นไม่ได้ผลเพราะยาไม่สามารถเข้าไปในจมูกส่วนลึกได้ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง

2. ยากลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน (Antihistamines) ใช้เพื่อบรรเทาอาการจาม, คัน, มีน้ำมูก และอาการที่เกิดจากฮีสตามีน

3. ยาต้านลิวโคไตรอีน (Antileukotrienes) ใช้ลดอาการคัดจมูก และใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกร่วมกับโรคหอบหืด

4. ยาหดหลอดเลือด (Decongestant) ใช้เมื่อมีอาการคัดจมูก มีทั้งแบบพ่นจมูก หยอดจมูก และแบบกิน ยากินออกฤทธิ์ช้าและได้ผลดี แต่อาจมีผลข้างเคียงเช่น ใจสั่น มือสั่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ส่วนยาพ่นและหยอดจมูกออกฤทธิ์ได้เฉพาะที่และเร็วกว่าแบบกินแต่หากใช้ต่อเนื่องกันเกิน 5 วันจะมีอาการคัดจมูกมากกว่าเดิม จึงควรใช้ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น

5. ยากลุ่ม Topical Anticholinergic Drug เช่น ไอปราโทรเปียม (Ipratropium)ใช้ลดอาการน้ำมูกไหลเรื้อรัง ไม่มีผลต่อการรักษาอาการคัดจมูกหรือจาม มักใช้เมื่อรักษาด้วยยากลุ่มอื่นแล้วอาการไม่ดีขึ้น

วิธีปฎิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศ

1. หลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นต้องปฎิบัติ

2. ออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายจะแข็งแรง ทนต่อสารกระตุ้นได้มากด้วยตัวเองโดยภูมิต้านทานทำงานน้อยลง

3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร จำเป็นต้องได้พักผ่อนเมื่ออ่อนล้า เมื่อร่างกายสดชื่นก็จะทำให้ต้านทานต่อสารกระตุ้นด้วยตัวเอง

4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ สารอาหารเหล่านี้จะช่วยในการป้องกันโรคต่างๆ

5. ใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไปพบแพทย์ทุกครั้งเมื่อมีอาการผิดปกติเพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศนี้ไม่เป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตก็จริง แต่ก็จะทำให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น ไซนัสอักเสบ, หอบหืด,ผิวหนังอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไม่เป็นปกติสุข และยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเหล่านั้นตามมา หากปฎิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการของโรคแสดงออกมาน้อยลงจนถึงไม่มีเลย ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ข้อมูลสาเหตุโรคภูมิแพ้อากาศ
แพ้อากาศ : siamhealth.net
7 วิธีปฏิบัติ หายจากโรค แพ้อากาศ : health.mthai.com