ไรฝุ่น มหันตภัยจิ๋วที่เรามองไม่เห็นและไม่ควรมองข้าม

412

ไรฝุ่น (Dust Mite) เป็นตัวการต้นๆที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจของคนทั่วโลก มันเป็นสัตว์ในไฟลั่ม Arthopoda ตระกูลเดียวกับเห็บ เหา แมงมุม ส่วนอกและท้องอยู่รวมเป็นส่วนเดียวกัน ไม่มีตาและระบบหายใจ รูปร่างกลมรี สีขาวขุ่น มีขา 4 คู่ และขนาดเล็กจิ๋วเพียง 0.1-0.3 มิลลิเมตร มองด้วยตาเปล่ายาก ต้องใช้แว่นขยายกำลังสูงส่องดู ชอบอาศัยอยู่ตามใยผ้าที่อับชื้น นั่นคือที่นอนของเรานั่นเอง อาหารของพวกมันคือเศษเซลหนังกำพร้า ขี้ไคลของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงที่หลุดออกมาตกบนที่นอน รวมทั้งเหงื่อ ไขมันที่เราสัมผัสกับเครื่องนอน เศษเหล่านี้ 1 กรัม เป็นอาหารสำหรับไรฝุ่น 1ล้านตัวได้ถึง 1สัปดาห์เลยทีเดียว ดังนั้นมันจะอาศัยแพร่พันธุ์อยู่กับเราได้ตลอดไป

mite-67638_1280

วงชีวิตของไรฝุ่น มีทั้งหมด 4 ระยะ

1. เมื่อตัวเต็มวัยผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวเมียจะเริ่มวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง วันละ 3-4 ครั้ง ตลอดอายุขัยของมันจะวางไข่ได้ 80-100ฟอง

2. ไข่ใช้เวลา 8-12 วัน ฟักเป็นตัวอ่อน

3. ตัวอ่อนเริ่มแรกมี 6 ขา และลอกคราบหลายครั้งจนเป็นตัวเต็มวัย

4. ตัวเต็มวัยมีขาครบ 8 ขา และพร้อมที่จะผสมพันธุ์

จากไข่พัฒนาจนเป็นตัวเต็มวัยใช้เวลาทั้งหมด 30 วัน และพวกมันมีชีวิตอยู่ได้อีก 1-2 เดือน

อันตรายของไรฝุ่นที่มีต่อมนุษย์

ไรฝุ่นจะไม่กัดคนและตัวมันเองไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์แต่อย่างใด แต่มันทำตัวเป็นพาหะของโรคภูมิแพ้ที่แพร่กระจายได้ดีในที่อยู่อาศัยที่อากาศถ่ายเทไม่ดี มีแสงสว่างน้อย มูลและซากไรฝุ่นตัวที่ตายแล้วจะมีโปรตีนจำนวนมากมีสารก่อให้เกิดภูมิแพ้สูง บางคนนอนบนที่นอนแล้วมีผื่นแดงอาจคิดว่าโดนไรฝุ่นกัด แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ คนที่แพ้มากเมื่อสัมผัสกับซากไรฝุ่นร่างกายจะมีปฎิกิริยาป้องกันโดยการเกิดผื่นนั่นเอง ซากไรฝุ่นและมูลแห้งจะฟุ้งกระจายไปในอากาศพร้อมฝุ่นเป็นสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ เมื่อเราหายใจเอาฝุ่นและซากไรฝุ่นเข้าไปเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน จะทำให้เราเป็นโรคภูมิแพ้ในระบบต่างๆของร่างกายดังนี้

1. โรคทางเดินหายใจอักเสบ

2. โรคหอบหืด

3. ตาอักเสบ แดง ระคายเคือง

4. โพรงจมูกอักเสบ มีน้ำมูกไหลและจาม

5. ผิวหนังอักเสบ มีผื่นแดงและคัน

การควบคุมตัวไรฝุ่นในที่พักอาศัย

1. ใช้วัสดุสร้างบ้านที่เป็นไม้หรือปูนเพื่อสามารถทำความสะอาดได้ง่าย และไม่ให้ไรฝุ่นมีที่อาศัย

2. หลีกเลี่ยงการใช้พรมปูพื้น และถ้าหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าม่านปิดหน้าต่างได้ก็ควรหลีกเลี่ยงไปใช้บานเกล็ด PVC แทน

3. เช็ดทำความสะอาดภายในบ้านเป็นประจำ ทั้งบนพื้นและบนเฟอร์นิเจอร์เพื่อกำจัดฝุ่น

4. เปิดประตูหน้าต่างในขณะทำความสะอาดเพื่อระบายกลิ่นอับชื้นอันเป็นที่ชื่นชอบของไรฝุ่น

5. ซักผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอนอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ต่อครั้ง การต้มเครื่องนอนในน้ำร้อนต้องต้มในอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส
เพราะไรฝุ่นยังมีชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส

6. คลุมที่นอนด้วยผ้าคลุมเตียงที่มีรอยช่องว่างระหว่างเส้นใยเล็กกว่าตัวไรฝุ่น หรือใช้ผ้าคลุมเตียงพลาสติกหรือผ้าใยสังเคราะห์ได้ก็จะเป็นการดี

7. นำฟูกออกตากแดดอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ให้โดนแดดจัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้แสงแดดฆ่าตัวไรฝุ่น ถ้าตากแดดเป็นเวลาไม่นาน ไรฝุ่นจะหลบเข้าไปอยู่ในส่วนลึกของฟูกแล้วมีชีวิตรอดอยู่ได้

ไรฝุ่นมีอยู่ทั่วไปทุกบ้านทุกที่ เราไม่สามารถกำจัดมันได้ 100% สิ่งที่ทำได้คือรักษาความสะอาดของที่นอนและตากให้แห้งอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีเด็กเล็กยิ่งต้องคอยเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เด็กเล็กยังมีภูมิต้านทานน้อย หากเกิดโรคภูมิแพ้แล้วจะเป็นรุนแรงติดตัวไปจนผู้ใหญ่แล้วรักษาไม่หาย

ข้อมูลไรฝุ่นอื่นๆ
ตัวไรฝุ่นคืออะไร : supracare.co.th
ไรฝุ่นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ : thairath.co.th