โรคภูมิแพ้ผิวหนัง แนะนำวิธีการรักษาและวิธีปฎิบัติ

1843

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Cezema หรือ Atopic Dermatitis) เป็นอาการที่ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง มีตุ่มหรือผื่นคัน เป็นๆหายๆ หรือบางครั้งไม่เห็นผิวหนังภายนอกมีความเปลี่ยนแปลงแต่ก็คัน ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันไม่เป็นปกติสุข บางคนแพ้มาก บางคนแพ้น้อย ความรุนแรงแตกต่างกันไป จุดที่คันก็มักจะเกิดในที่เดียวซ้ำๆ พบในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่เพราะผิวหนังของเด็กนั้นยังบอบบาง อาการคันนั้นมักเกิดขึ้นเมื่อสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยเปลี่ยนแปลง เช่น ในเวลากลางคืน เมื่ออากาศเย็น หรือเมื่ออากาศแห้ง เด็กมักเกิดบนส่วนศีรษะ หน้า คอ มือ เท้า ส่วนผู้ใหญ่มักเกิดที่แขน ศอก คอ มือ เท้า ข้อพับ

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

สาเหตุที่ทำให้เกิด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดแต่เชื่อว่าเกิดจากกรรมพันธุ์เพราะมักพบว่าถ้าใครเป็นโรคนี้แล้วบุคคลอื่นในครอบครัวก็มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยเช่นกัน บวกกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกเพิ่มเติมก็จะแสดงอาการออกมาได้เร็วขึ้น ปัจจัยแวดล้อมได้แก่

1. สัตว์ต่างๆรอบตัวผู้ป่วย สัตว์เลี้ยง แมลงบางชนิดเป็นแหล่งเพาะเชื้อแสตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) สเตปฟิโลคอคคัส (Streptococcus)หรือเฮอปิสไวรัส (Herpes virus) ที่ทำให้โรคภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ

2. อาหาร เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์บางชนิด นมวัว ถั่ว ไข่ แอลกอฮอล์ ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการแพ้อาหารเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ต้องทดสอบด้วยตัวเองด้วยการกินอาหารที่สงสัยว่าแพ้ในปริมาณน้อยแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น แล้วดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ ถ้ามี ให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น

3. สารเคมี เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สบู่ ซึ่งต้องสัมผัสเป็นประจำในชีวิตประจำวัน หากแพ้ก็ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง สบู่ถูตัวให้ใช้สบู่ชนิดอ่อนหรือสบู่สำหรับเด็ก

4. การเล่นกีฬาบางชนิด เช่น ว่ายน้ำ คลอรีนในสระว่ายน้ำก็ทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้ หากต้องการว่ายน้ำจริงๆ ควรเลือกใช้สระเกลือ และหลังจากว่ายเสร็จแล้วก็อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด

5. อากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะร้อน หนาว แสงแดดหรือฝนก็มีส่วนทำให้โรคภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบได้เช่นกัน

6. สภาพจิตใจ ความเครียด ก็ทำให้เกิดอาการคันมากขึ้นได้

การรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดรักษาโรคภูมิแพ้ผิวหนังให้หายขาด ทำได้เพียงการควบคุมอาการไม่ให้รุนแรง อย่างไรก็ดีเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น อาการเหล่านี้ก็จะลดลง ผู้ป่วยแต่ละรายมีวิธีการรักษาต่างกันออกไปเพราะแต่ละคนก็แพ้สิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน แต่โดยรวมแล้วก็จะเป็นแนวเดียวกัน การรักษาแบ่งเป็น 2 ระยะ

1. การรักษาในระยะเกิดอาการแพ้ของผิวหนัง
เป็นระยะที่ผิวหนังผู้ป่วยเริ่มแพ้ต่อสภาพแวดล้อม เกิดอาการอักเสบ เป็นขุย คัน แพทย์จะวินิจฉัยว่าควรให้ยาชนิดใด โดยมากจะเป็นยากินแก้คัน แก้อักเสบ และยาทาภายนอกประเภทคาลาไมน์ (Calamine Lotion)

ระยะผิวหนังอักเสบ เป็นหนอง มีตุ่มใส แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฎิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และให้ผู้ป่วยใช้น้ำเกลือล้างบ่อยๆ เพื่อลดอาการระคายเคือง และใช้คาลาไมน์ทาเพื่อลดอาการคัน ใช้เวลาประมาณ 7 วัน เชื้อแบคทีเรียจะถูกกำจัดออกไป หลังจากนั้นจะให้ยากดภูมิแพ้ประเภทเสตียรอยด์ทั้งแบบทาภายนอกและรับประทาน

2. การรักษาในระยะที่ไม่มีอาการแพ้ของผิวหนัง

เป็นระยะที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแพ้ใดๆ แต่ผิวหนังยังไวต่อการถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมอยู่ ในระยะนี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาใดๆ เพียงแต่ผู้ป่วยจึงต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่ออาการแพ้

การปฎิบัติตัวของผู้ป่วย

1. หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดโรคดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อ “สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค”

2. เมื่อมีอาการคันแล้วห้ามเกา เพราะจะทำให้อาการคันขยายวงกว้างขึ้นและหากคันจากการติดเชื้อ เชื้อจะติดที่เล็บแล้วไปติดยังจุดอื่นที่เล็บไปสัมผัส

3. ป้องกันผิวแห้งด้วยการอาบน้ำอุณหภูมิปกติ หลังอาบน้ำให้ใช้ครีมประเภทมอยเจอไรเซอร์ (Moisturizer)ทาตัวให้ทั่วทุกครั้ง ไม่ควรอาบน้ำอุ่นหรือร้อนเพราะทำให้ผิวแห้งอย่างรุนแรง

4. การใช้ยาสเตียรอยด์ ต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อมาใช้เองเพราะมีผลข้างเคียงมาก
โรคภูมิแพ้ผิวหนังไม่ใช่โรคร้ายแรงที่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำความรำคาญให้ผู้ป่วยได้มากพอสมควร เมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจในโรคนี้แล้ว เราก็มีแนวทางปฎิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เราก็จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

ข้อมูลสาเหตุโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก : loykratong52.kapook.com
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง : eucerin.co.th