เบาหวานขึ้นตา สาเหตุและวิธีปฎิบัติตัวเมื่อเป็น เรามีคำแนะนำมาบอก

323

ภาวะ เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy หรือ DR) หรือเบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน มีหลายชื่อเรียกแต่คือสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการแทรกซ้อนอาการหนึ่งจากโรคเบาหวาน ผู้ป่วยมีอาการค่อยๆตามัวขึ้นทีละน้อยๆ ไม่รู้สึกผิดสังเกต จนกระทั่งมองสิ่งต่างๆยากขึ้น มองเห็นเงาดำลอยไปลอยมาหรือจุดสว่าง จนถึงขั้นตาบอดในที่สุด ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานานเกิน 5 ปี จะมีโอกาสพบอาการนี้ถึง 20% และหากเป็นเบาหวานมานานเกิน 15-20 ปี จะมีโอกาสเกิดอาการนี้ถึง 60% เลยทีเดียว

เบาหวานขึ้นตา

สาเหตุของภาวะเบาหวานขึ้นตา

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ทำให้ผนังหลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วทั้งร่างกาย เลือดและของเหลวต่างๆค่อยๆซึมออกจากผนังหลอดเลือดฝอยเหล่านี้ เมื่อเลือดซึมออกจากหลอดเลือดฝอยในดวงตาจะเริ่มมีอาการตาบวมและพร่ามัว หากผู้ป่วยยังไม่รู้ตัวและไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีพอ หลอดเลือดฝอยจะถูกทำลายมากขึ้นก็จะกระตุ้นให้สร้างหลอดเลือดฝอยใหม่ (Neovascularization) หลอดเลือดใหม่เหล่านี้ยังอ่อนบาง เมื่อเจอความดันในหลอดเลือดก็จะแตก ทำให้เกิดเลือดออกในตาและเกิดพังผืดรั้งภายในลูกตา แล้วการมองเห็นของผู้ป่วยจะแย่ลงเรื่อยๆหากปล่อยทิ้งไว้นาน

อาการ มี 2 ระยะ

1. ระยะเริ่มแรกหรือระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่ (Non-Proliferative Diabetic Retinopathy หรือ NPDR) ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังไม่มีอาการใดๆ เป็นสัญญาณ เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเส้นเลือดฝอยในดวงตาแล้ว

2. ระยะรุนแรงหรือระยะที่มีหลอดเลือดฝอยงอกใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy หรือ PDR) เลือดเริ่มซึมออกจากเส้นเลือดฝอยในตาผู้ป่วย และเริ่มตาพร่ามัวเป็นต้นไป

วิธีการรักษาเบาหวานขึ้นตา

ไม่มีวิธีใดรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาให้หายขาดเป็นปกติได้ การรักษาเพียงเพื่อไม่ให้อาการลุกลามมากไปกว่าเดิม หากสงสัยว่ามีอาการก็ให้รีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด หากพบว่าเริ่มเป็นก็จะได้ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ รวมทั้งรักษาความดันโลหิตก็จะลดความรุนแรงของอาการได้ การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธี

1. ใช้เลเซอร์จี้เข้าไปที่หลอดเลือดฝอยที่สร้างใหม่ทำให้ฝ่อลง ช่วยป้องกันเลือดออกในตา อาจต้องทำหลายครั้งเพื่อป้องกันจอตาบวม วิธีนี้มีผลข้างเคียงน้อย

2. ใช้ยาฉีดที่ทำให้หลอดเลือดใหม่ฝ่อลงและลดการรั่วซึมของหลอดเลือดเข้าไปในวุ้นตา ได้ผลการรักษาดีแต่ฤทธิ์ยาอยู่ได้ไม่นาน มีผลข้างเคียงมาก มียา 2 กลุ่มที่ใช้กันอยู่ได้แก่

2.1 ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroids)

2.2 ยาต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Anti-vascular Endothelial Growth Factor)

3. รักษาด้วยการผ่าดัด โดยปกติแล้วเลือดที่ไหลซึมออกมาจากเส้นเลือดฝอยในตาจะถูกดูดซึมหมดไปเองภายใน 2-3 เดือน แต่ในบางกรณีที่ดูดซึมไม่หมดหรือเกิดพังผืดก็จำเป็นต้องผ่าตัดเอาพังผืดและเลือดออกเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลาม

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวานขึ้นตา

1. เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวานแน่นอนแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจจากจักษุแพทย์ทันที เพื่อตรวจดูว่าโรคเบาหวานส่งผลอะไรมาที่ตาหรือยัง หลังจากนั้นก็ต้องกลับมาตรวจอีกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหากพบว่ามีเบาหวานขึ้นตาแล้ว แพทย์จะนัดให้เข้ามาตรวจถี่ขึ้นเรื่อยๆ

2. เลิกบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาดและควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดตามคำสั่งแพทย์อย่างเข้มงวด

3. ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่าหาซื้อยามากินเอง หากมีการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วยต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษาทุกครั้ง หากแพ้ยาต้องแจ้งแพทย์เพื่อปรับเลี่ยนวิธีการรักษา

ตาของเราเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้เราได้รับรู้สิ่งต่างๆได้ตั้งแต่ระยะไกลถ้ามีอันตรายจะได้หลีกเลี่ยง ได้รับรู้ถึงความสวยงามของโลก จึงควรรักษาไว้ให้ดีที่สุด หากมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียดวงตาไปก็ต้องหลีกเลี่ยง จะได้มีชีวิตที่สวยงามไปตราบนานเท่านาน

ข้อมูลสาเหตุเบาหวานขึ้นตาอื่นๆ
เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา : haamor.com
ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา : si.mahidol.ac.th