โรคภูมิแพ้ตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus – SLE) หรือ โรคลูปัส โรคนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทยเมื่อครั้งหนึ่งนักร้องหญิงราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เธอได้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ และชื่อ “โรคพุ่มพวง” ก็กลายเป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการอีกชื่อของโรคภูมิแพ้ตัวเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายตัวหนึ่งซึ่งปกติจะคอยโจมตีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แต่ภูมิต้านทานตัวนี้ไม่สามารถแยกแยะเซลล์ร่างกายปกติและสิ่งแปลกปลอมได้แล้วสร้างแอนตี้บอดี้ (Antibody) ขึ้นมาโจมตีเซลล์ในร่างกายตัวเอง หากเกิดขึ้นในอวัยวะภายในที่สำคัญสำคัญก็จะมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ อวัยวะที่พบว่าถูกโจมตีบ่อยได้แก่ หัวใจ ไต ปอดและระบบประสาท ความรุนแรงในผู้ป่วยแต่ละคนก็ต่างกันไป มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 9:1 ช่วงอายุที่พบบ่อยประมาณ 20-45 ปี
สาเหตุของการเกิด โรคภูมิแพ้ตัวเอง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่จากการวิจัยด้วยการซักประวัติของผู้ป่วยแล้วพบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้แก่
1. พันธุกรรม พบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตัวเองร้อยละ 7-12 มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกัน เช่น ญาติพี่น้องที่เป็นหญิง แม่กับลูกสาว
2. ฮอร์โมนเพศ จากการที่โรคนี้พบมากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และความรุนแรงของโรคยังเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์และมีประจำเดือน จึงมีสมมุติฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะเอสโตรเจน
3. ยาบางชนิดเช่น ยาคุมกำเนิด ก็ทำให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยง แสดงอาการของโรคออกมา
ลักษณะอาการของโรคภูมิแพ้ตัวเอง
เนื่องจากโรคภูมิแพ้ตัวเองเป็นกลไกการผิดพลาดของภูมิคุ้มกัน จึงเกิดได้กับอวัยวะหลายๆแห่ง จึงมีหลายอาการแตกต่างกันไป
1. ผิวหนัง มีตุ่มคันขึ้นเป็นวงๆ บนใบหน้าบริเวณที่โดนแดด ผื่นกระจายตัวตั้งแต่สันจมูกออกไปที่แก้มทั้งสองข้าง รูปร่างคล้ายผีเสื้อ (Butterfly Rash)
2. ไต หากเกิดขึ้นที่ไตอาการจะรุนแรงที่สุดถึงขั้นไตวาย ผู้ป่วยมีอาการบวมที่มือ เท้า หน้า หนังตา หรืออาจบวมได้ทั้งตัว บางครั้งมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
3. หัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย หากมีโรคภูมิแพ้ตัวเองร่วมด้วยจะทำให้เลือดแข็งตัวง่ายเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันตามหลอดเลือดและอวัยวะต่างๆ
4. ระบบประสาท ผู้ป่วยมีอาการความจำเสื่อม พูดจาเพ้อเจ้อ เอะอะโวยวาย คลุ้มคลั่ง
5. ปวดข้อและกล้ามเนื้อ จะปวดตามข้อต่อ คล้ายโรคเก๊าท์แต่ไม่ทำลายข้อต่อ มีอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบร่วมด้วย
6. ปอดและเยื่อหุ้มปอด มีอาการเจ็บ แน่นหน้าอก ปอดอักเสบ มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด
การรักษาโรคภูมิแพ้ตัวเอง
แพทย์จะรักษาให้ยาตามอาการ เกิดขึ้นส่วนไหนของร่างกายตรงส่วนไหนก็รักษาตรงส่วนนั้น ในกรณีที่ไม่รุนแรงเช่นลดความเจ็บปวดด้วยการให้ยาแก้ปวด ถ้ามีอาการอักเสบก็ให้ยาแก้อักเสบ หากมีผื่นแพ้ก็ให้ยาปฎิชีวนะ ก็สามารถควบคุมอาการได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากขึ้นก็จะพิจารณาใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ เช่นเพรดนิโซโลน ยาประเภทนี้จะให้ในช่วงเวลาสั้นๆและจะค่อยๆลดปริมาณลงเมื่ออาการดีขึ้น
วิธีปฎิบัติเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง
1. ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
2. ระวังอย่าถูกแสงแดดโดยตรง เพราะผิวหนังไวต่อการแพ้แสงแดด
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ไม่เครียด
6. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมาก เพราะติดเชื้อได้ง่าย
7. ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง และไม่เพิ่มหรือลดปริมาณยาเอง
8. ผู้ป่วยหญิงหากต้องการมีบุตร ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน การมีบุตรในระยะที่โรคกำเริบเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก
9. หากมีอาการกำเริบ มีไข้ ต้องไปพบแพทย์ผู้รักษาประจำ หรือหากเร่งด่วนต้องพบแพทย์ท่านอื่น ต้องนำยาที่ใช้เป็นประจำไปให้แพทย์ดูด้วย เพื่อที่จะได้จัดยาให้เหมาะสมกับยาชุดเดิม
ปัจจุบันยังรักษาโรคนี้ให้หายขาดไม่ได้ แต่หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และผู้ป่วยปฎิบัติตัวอย่างเหมาะสมก็จะสามารถควบคุมโรคไม่ให้รุนแรงและผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผู้ป่วยจึงต้องสังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการต้องสงสัยก็ให้ไปพบแพทย์จะได้ตรวจรักษาอย่างทันท่วงที
ข้อมูลสาเหตุโรคภูมิแพ้ตัวเอง
รู้จักโรคเอสแอลอี หรือ โรคพุ่มพวง : health.kapook.com
โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) : absolute-health.org