มะเร็งปากมดลูก สาเหตุ อาการ และการรักษา

847

มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายเงียบสำหรับผู้หญิงที่ต้องระวัง! … ปัจจุบันโรคภัยสำหรับผู้หญิงนั้นมีมากมายร้อยแปดพันเก้าล้านโรค หนึ่งในนั้นที่พบมากและพบบ่อยมากก็คือ มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) ซึ่งตอนนี้กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจะสังเกตุได้ว่าในปัจจุบันองค์กรณ์และสื่อแขนงต่างๆ เริ่มมีการรณรงค์กันมากขึ้น

มะเร็งปากมดลูก

วันนี้เรามาทราบถึงสาเหตุและการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกให้เพื่อนๆได้ป้องกันไม่ให้โรคนี้แวะมาเยี่ยมเยียนเรากันนะค่ะ

สาเหตุ โรคมะเร็งปากมดลูก เกิดขึ้นได้อย่างไร

มะเร็งปากมดลูก ไม่ใช่กรรมพันธุ์ แต่เกิดจาก เชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา (Human Papillomavirus) หรือเรียกสั้นๆว่า เชื้อ เอชพีวี (HPV) ซึ่งจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงเซลล์บริเวณปากมดลูกทำให้กลายเป็นเซลล์เนื้อร้ายหรือมะเร็ง เชื้อ เอชพีวี เป็นเชื้อที่ทนทานต่อความร้อนและความแห้งแล้ง สามารถเกาะติดตามผิวหนัง อวัยวะเพศ เสื้อผ้า หรือกระจายอยู่ในรูปของละอองฝุ่น ส่วนการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบความรัก ทั้งผู้หญิงกับผู้ชาย และรักร่วมเพศ เพียงสัมผัสระหว่างผิวหนังกับผิวหนังแค่ภายนอก หรือออรัลเซ็กส์ ถุงยางอนามัยปัองกันไม่ได้ 100% เนื่องจากเชื้อนี้สามารถเกาะอยู่ที่บริเวณอื่นของอวัยวะเพศนอกเหนือจากบริเวณที่ป้องกันโดยถุงยาง

ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายในตัวหญิง

วิดีโอจากยูทูป: youtube.com สารคดีชุด “ความรู้เรื่องโรคมะเร็ง” ตอนที่ 4 : มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายในตัวหญิง โดย : แพทย์หญิงสุขุมาลย์ สว่างวารี

อาการของมะเร็งปากมดลูก

ในช่วงแรกของการติดเชื้อ HPV (รอยโรคก่อนมะเร็ง) มักจะไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็น แต่เมื่อมีอาการแล้วก็มักจะแสดงว่ามะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม และรักษาได้ยาก อาการที่อาจจะพบในผู้ป่วยได้แก่

การตกเลือดทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วย ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็น เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีน้ำออกปนเลือด มีตกขาวปนเลือด หรือ เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น ได้แก่ ขาบวม ปวดหลังรุนแรง ปวดก้นกบและต้นขา ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น

Cervical cancer - มะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 5 ระยะ

ระยะแรก เซลล์มะเร็งจะยังไม่กระจายตัว มีวิธีรักษาระยะแรกนี้คือการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที และตรวจร่างกายติดตามอาการต่อไป การรักษาในระยะนี้ได้ผลเกือบ 100%

ระยะที่หนึ่ง เซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูกแล้ว การรักษาในระยะที่หนึ่ง คือการผ่าตัดใหญ่ เป็นการผ่าตัดมดลูก เลาะต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน ผลการรักษาได้ผลดีถึง 80%

ระยะที่สอง ระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูก โดยยังไม่ลุกลามไปไกลมากนัก แต่ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว การรักษาในระยะนี้ ต้องทำการรักษาด้วยการฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด

ระยะที่สาม เซลล์มะเร็งกระจายชิดเชิงกราน การรักษาคือใช้รังสี และเคมีบำบัดเช่นเดียวกันระยะที่สอง แต่การรักษาระยะนี้จะได้ผลเพียงประมาณ 20 – 30% เท่านั้น

ระยะที่สี่ เซลล์มะเร็งกระจายทั่วร่างกายแล้ว การรักษาในระยะนี้ ยังคงเป็นการให้คีโม และรักษาตามอาการ โดยหวังผลได้เพียงประมาณ 5-10% เท่านั้น และมีโอกาสรอดน้อยมาก! แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายสามารถอยู่ต่อได้นานถึง 1 – 2 ปี แล้วจึงจะเสียชีวิต

การป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก

ในปัจจุบันการป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ซึ่งวัคซีน HPV ที่อนุมัติให้ใช้มี 2 ชนิด คือ

  • วัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีประสิทธิ์ภาพในการป้องกันครอบคลุม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด และหูดอวัยวะเพศ
  • วัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ ได้รับการรับรองว่าใช้สำหรับป้องกันมะเร็งปากมดลูก

หากใครอยากจะไปฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันแต่ไม่ทราบรายละเอียดก็ไม่ต้องตกใจนะค่ะ เพราะก่อนที่จะรับการฉีดวัคซีน HPV แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำรายละเอียดต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจให้กับเราก่อน แต่ถึงอย่างไรการป้องกันขั้นพื้นฐานด้วยการตรวจคัดกรองหรือเรียกอีกอย่างว่าการตรวจ “แพปเมียร์” (Pap smear) ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองจะได้รับบริการฟรีจากสถานพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะผู้หญิงกลุ่มเสี่ยง อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจหา มะเร็ง ปากมดลูก อย่างน้อยปีละครั้ง

ข้อมูลเพิ่มเติม:
ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก : rtcog.or.th
อาการมะเร็งปากมดลูก : iosociety.com