สำหรับผู้ใช้รถยนต์อย่างเรา สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ก็คือ วิธีเลือกน้ำมันเครื่อง แบบไหน ยี่ห้อไหนดี ที่เหมาะกับรถที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้มากที่สุด เพราะน้ำมันเครื่อง เป็นสารหล่อลื่นภายในเครื่องยนต์ มีหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน และช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ และต้องมีการเปลี่ยนถ่ายอยู่สม่ำเสมอตามระยะทางที่มีการใช้งานไป
ฉะนั้นความรู้เกี่ยวกับน้ำมันเครื่อง (Engine Oil) ประเภทน้ำมันเครื่อง, เกรดและความหนืดของน้ำมันเครื่อง จึงมีความจำเป็นมาก
วิธีเลือกน้ำมันเครื่อง ตามประเภทของการผลิต
- น้ำมันเครื่องธรรมดา (Synthetic) ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นที่กลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม มีอายุการใช้งานประมาณ 3,000 ถึง 5,000 กิโลเมตร
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic) ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นธรรมดากับชนิดสังเคราะห์ มีอายุการใช้งาน 5,000 ถึง 7,000 กิโลเมตร
- น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic) ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นที่สังเคราะห์ จากน้ำมันปิโตรเลียม มีอายุการใช้งาน 7,000 ถึง 10,000 กิโลเมตร
การแบ่งเกรดของน้ำมันเครื่อง
เราสามารถแบ่งเกรดของน้ำมันเครื่องออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ตามความหนืด และ ตามสภาพการใช้งาน
การแบ่งเกรดน้ำมันเครื่องตามความหนืด (ค่าความต้านทานการไหล) ค่าความหนืดมีหลายมาตรฐานแบ่งตามสถาบัน เช่น API, SAE, ASTM และ CCMC เป็นต้น การวัดค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องจะวัดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นค่าความหนืดซึ่งแทนค่าด้วยตัวเลขเรียกว่า เบอร์ของน้ำมันเครื่อง มีเลข 0 – 60 (ตัวเลขยิ่งมากยิ่งมีความหนืดมาก)
- ค่าความหนืดต่ำ : สำหรับการใช้งานในสภาวะอากาศปกติ และเป็นเครื่องยนต์ใหม่ แต่ก็ต้องเลือกความหนืดที่เหมาะสมไม่ให้ต่ำเกินไป เพราะทำให้น้ำมันไม่เกาะเป็นฟิล์มและส่งผลต่อการสึกหรอของเครื่องยนต์
- ค่าความหนืดสูง : สำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้งานหนัก ใช้งานในสภาวะอากาศร้อนมาก เป็นเครื่องยนต์เก่าที่ก่อให้เกิดการกินน้ำมันเครื่อง ระดับนี้ควรจะมีค่าความหนืดสูงถึงระดับ 50 จึงจะเหมาะสม
การแบ่งเกรดนำมันเครื่องตามสภาพใช้งาน เช่น น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน หรือ น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล เป็นต้น
ในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ขายกันอยู่จะเป็น มาตรฐาน API (AMERICAN PETROLEUM INSTITUTE) โดยมาตรฐาน API สำหรับน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน จะมีอักษรนำหน้าว่า S (Service Stations Classifications) โดยเริ่มจาก SA เป็นมาตรฐานน้ำมันเครื่องรุ่นเก่าๆสมัยแรกๆ ต่อมา ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนมาตรฐานให้สูงมากขึ้นตามเทคโนโลยีจนปัจจุบัน SM ถือว่าเป็นมาตรฐานสูงสุด และน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล จะมีอักษรนำหน้าว่า C (COMMERCIAL SERVICE-COMPRESSION IGNITION) เริ่มจากมาตรฐาน CA – CB จนในปัจจุบันมาตรฐานสูงสุดของน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลคือ CI-4 ส่วนเลข 4 จะหมายถึงกับใช้เครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ
เมื่อทราบแล้วต่อไปหวังว่าทุกท่านจะเลือกซื้อน้ำมันเครื่องได้อย่างถูกต้อง และเหมาะกับรถยนต์ของแล้วมากที่สุด แต่ทั้งหมดทั้งปวง สำคัญที่สุดคือควรจะต้องซื้อน้ำมันเครื่องที่เป็นของแท้เท่านั้น หากซื้อน้ำมันเครื่องปลอมหรือน้ำมันเครื่องเก่าที่หมดอายุ ก็จะส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์ได้อย่างมากทีเดียว
ข้อมูลเพิ่มเติม : yukonlubricants.com