เฟอร์นิเจอร์ไม้ ออกแบบเอง ทำเองได้ไม่ยาก

379

สำหรับ เฟอร์นิเจอร์ไม้ มีแนวโน้มว่าจะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม้ที่มีคุณค่าในตัวเริ่มหายากขึ้นทุกที ประกอบกับมีวัสดุอื่นๆเข้ามาทดแทนไม้ ทำให้ช่างไม้เริ่มน้อยลง แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังหลงใหลในความสวยงานของเฟอร์นิเจอร์ไม้อยู่ และอยากได้เฟอร์นิเจอร์ไม้เอาไว้ประดับบ้าน แต่หาซื้อก็ราคาแพง แถมไม่ค่อยมีช่างไม้ที่จะทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ลองทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไว้ใช้เองดีกว่าไหม…

เฟอร์นิเจอร์ไม้

สำหรับมือใหม่ การที่จะทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ด้วยตัวเอง ควรเริ่มจากงานง่ายๆไปก่อน เช่น ชั้นวางรองเท้า โต๊ะทรงสี่เหลี่ยม เก้าอี้ขาตรง ฯลฯ แต่ก่อนที่จะเริ่มทำควรรู้จักเครื่องไม้เครื่องมือของงานไม้กันก่อนว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือได้เต็มที่ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน เราไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เครื่องมือที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้

การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ขึ้นมาซักชิ้น เราต้องอาศัยเครื่องมือชนิดต่างๆเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งเครื่องมือแต่ละอย่างก็มีคุณสมบัติในการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน สำหรับเครื่องมือพื้นฐานโดยทั่วไปจะอยู่ในกลุ่มเครื่องมือที่ไม่ใช้ไฟฟ้า หรือ Hand Tools ซึ่งแบ่งออกได้ ดังนี้

1. กลุ่มงานวัดขนาด และกำหนดตำแหน่ง

• ตลับเมตร เป็นอุปกรณ์ที่รู้จักกันดี ใช้วัดขนาดหรือกำหนดระยะ โดยทั่วไปจะสายวัดจะทำด้วยโลหะที่ปลายจะมีตัวเกี่ยวเพื่อความสะดวกในการดึงวัด หากสังเกตให้ดีตัวเกี่ยวนี้จะขยับไปมาได้ เพื่อที่จะได้ค่าเริ่มต้นที่ศูนย์ โดยค่าที่ขยับไปมาจะเท่ากับความหนาของตัวเกี่ยวที่ต้องทดคืนนั่นเอง

• ฉากวัด โดยทั่วไปนิยมใช้ ฉากตาย 90 องศา (ปรับมุมไม่ได้) ใบฉากทำด้วยโลหะ มีเส้นบอกขนาดเป็นนิ้วและเซนติเมตร ใช้สำหรับเช็คมุมฉากหรือมุม 45 องศา หรือจะใช้สันฉากเช็คความเรียบของพื้นผิวก็ได้ นอกจากฉากตาย 90 องศาแล้ว ยังมีฉากเป็นที่สามารถปรับมุมได้ นิยมใช้กับงานที่ไม่เป็นมุมฉาก

• ขอขีด ชื่ออาจไม่คุ้นหูนัก แต่สำหรับช่างไม้ถือว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นชิ้นหนึ่งเลย ใช้ลอกหรือถ่ายแบบจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่งได้ โดยการใช้งานจะเป็นลักษณะบอกเส้นคู่ขนานกับแนวอ้างอิง เวลาลากจะมีส่วนที่เป็นโลหะแหลมกดจิกลงบนไม้ ทำให้เห็นเป็นร่อง ส่วนแขนสามารถปรับเลื่อนเข้าออกได้

• ดินสอไม้ ใช้สำหรับขีดบอกตำแหน่ง ปัจจุบันนิยมใช้ดินสอแบบกดแล้ว เพราะสะดวกไม่ต้องคอยเหลา

2. กลุ่มงานขึ้นรูป (ตัด-ไส-ซอย)

• เลื่อย ใช้สำหรับตัด ผ่า ชิ้นงานที่ไม่กว้างนัก เลื่อยมีหลายชนิดควรเลือกใช้ตามลักษณะของงาน เช่น เลื่อยลันดาใช้ตัด ซอยไม้แผ่น หรือตัดตามระยะยาวเป็นแนวตรง, เลื่อย-อกใช้ตัดชิ้นงานที่ไม่กว้างนัก ระยะไม่เกินใบเลื่อยกับด้าม, เลื่อยฉลุ ใช้ตัดชิ้นงานที่มีลักษณะคดโค้งไม่ตรง, เลื่อยลอใช้กับงานตัดละเอียดเพราะมีฟันที่ถึ่ ฯลฯ

• กบไสไม้ ของไทยทำจากไม้เนื้อแข็ง แต่ต่างประเทศนิยมทำด้วยเหล็ก ใช้ไสปรับผิวให้เรียบตั้งแต่ผิวดิบไปจนถึงผิวงานขั้นสุดท้าย ควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น กบล้าง เหมาะกับงานที่ต้องปรับผิวให้เรียบ, กบผิว เหมาะกับงานปรับผิวให้ละเอียดจะใช้ต่อจากกบล้าง, กบขูด เหมาะสำหรับงานที่มีผิวโค้ง ฯลฯ

• สิ่ว ใช้สำหรับเจาะ แซะเนื้อไม้ ที่นิยมใช้จะเป็นสิ่วปากบางขนาดตั้งแต่ ¼ นิ้ว ไปจนถึง 2 นิ้ว ซึ่งนิยมใช้คู่กับค้อนไม้ เพราะด้ามสิ่วจะไม่สึกเร็วเกินไป

• ค้อน ใช้สำหรับตอก เคาะ งัด ค้อนมีหลายชนิด เช่น ค้อนเหล็ก ค้อนไม้ ค้อนพลาสติกแข็ง ค้อนยาง แต่ที่นิยมใช้กันมากจะเป็นค้อนหงอน

3. กลุ่มอุปกรณ์ยึดจับชิ้นงาน

• แคลมป์ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยยึดจับชิ้นานไม่ให้เคลื่อน ระยะในการจับตั้งแต่ 3 นิ้วขึ้นไป มีทั้งแบบ ซีแคลมป์ที่ต้องการบีดอัดให้มีความแน่นมาก และแบบเอฟแคลมป์ ใช้บีดอัดงานที่แน่นปานกลางแต่ใช้ได้สะดวกรวดเร็ว

• แม่แรงปากกา เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จับยึดกับงานที่มีระยะยาวมากๆ หรือมีระยะกว้างกว่าปกติ เช่น การนำไม้มาต่อกันเป็นแผ่นใหญ่ ฯลฯ

สำหรับกลุ่มเครื่องมือที่ใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องมือกล Power tools เช่น เครื่องเลื่อยวงเดือน, เครื่อง Router, เครื่อง Trimmer และจิ๊กซอว์ ฯลฯ จะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ด้วยตัวเองไม่ได้ยากอย่างที่คิด ถ้าได้เรียนรู้และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ก็สามารถทำเฟอร์นิเจอร์ไม้เอาไว้ใช้เอง หรือจะทำขายก็ยังได้ หากยังไม่มีไอเดียในการทำ ก็ลองเสิร์ชหาคำว่า “DIY เฟอร์นิเจอร์ไม้” หรือ “ไอเดีย เฟอร์นิเจอร์ไม้” จะเจอไอเดียใหม่ๆมาให้ลองทำมากมายครับ

ข้อมูลเฟอร์นิเจอร์ไม้อื่นๆ
อยากเริ่มทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ งานไม้ : bloggang.com