อาการปวดกระดูก อย่าปล่อยไว้นานอาจเรื้อรัง

455

กระดูกเป็นโครงสร้างหลักของร่างกายมนุษย์ที่มีหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายในที่สำคัญ ค้ำจุนโครงร่างของร่างกาย เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อ เอ็นต่างๆ ข้อต่ออันเป็นส่วนที่ทำให้เราเคลื่อนไหวได้ มีหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว และยังเป็นที่เก็บสะสมของแร่ธาตุ โดยเฉพาะแคลเซียมและฟอสฟอรัส อาการปวดกระดูก เป็นการที่เนื้อเยื่อกระดูกได้รับบาดเจ็บ หรือ เสื่อมสภาพลง จากการใช้งานมากเกินควร ตามอายุที่มากขึ้น ใช้งานผิดวิธี ขาดอาหาร จากอุบัติเหตุ จากโรคต่างๆ ที่ลุกลามหรือแพร่มายังกระดูกได้ เช่น มะเร็ง เป็นต้น

อาการปวดกระดูก
อาการปวดกระดูก อาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกและข้ออักเสบ เช่นโรครูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม โรคมะเร็งกระดูก โรคมะเร็งชนิดอื่นๆที่แพร่กระจายสู่กระดูก เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หรืออาการปวดอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคอื่นๆ เช่น โรคออโตอิมมูน หรือโรคภูมิต้านตนเอง ในบางรายอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากกระดูกผิดรูป การบวม การมีก้อนเนื้อในตำแหน่งที่ปวด

การใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมหรือมากจนเกินไปอาจทำให้กระดูกเสื่อม ปวดกระดูก เช่น

1. การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป (อ้วน) จะทำให้กระดูกรับน้ำหนักมากจนทำให้เกิดความเสื่อมกับกระดูกเร็วขึ้นและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดูกสันหลังซึ่งเป็นแก่นกลางของร่างกายที่คอยรองรับน้ำหนักตัว หากคนที่มีหน้าท้องมากหรือที่เราเรียกว่ามีพุง ทำให้กล้ามเนื้อหลังออกแรงดึงมากขึ้นหากกล้ามเนื้อต้องออกแรงดึงแบบนี้อย่างต่อเนื่องนานๆ ก็จะทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็ว และจะเกิดอาการปวดเรื้อรัง

2. การออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป – การออกกำลังกายเป็นการช่วยให้กระดูกที่ทำหน้าที่รับแรงกดอยู่บ่อยๆ นั้นแข็งแรง แต่การออกกำลังกายที่หนักจนเกินไปหรือการออกกำลังที่ผิดท่าก็จะทำให้กระดูกและกล้ามเนื้ออักเสบได้ เช่น การวิ่งซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่กำลังเป็นที่นิยมกันในปัจจุบันนั้น การวิ่งจะส่งผลต่ออวัยวะส่วนต่างๆเช่น ส้นเท้า ข้อเท้า เอ็น หัวเขา ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกคอ ลองคิดดูนะคะว่า ถ้าเราน้ำหนัก 70 กิโลกรัม วิ่งด้วยความเร็ว 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แรงกระแทกที่เกิดกับอวัยวะที่กล่าวมา จะเท่ากับ 70X5 = 350 กิโลกรัม หรือหนักเท่ากับข้าวสาร 3 กระสอบครึ่งเลยนะคะ การวิ่งทำให้เกิดแรงอัดและแรงกระแทกต่ออวัยวะเหล่านั้น ยิ่งวิ่งนาน วิ่งด้วยรองเท้าที่ไม่เหมาะสม วิ่งบนพื้นแข็ง วิ่งเร็วเกินไป อาจทำให้กระดูกแตกแยกได้ (Stress Fracture) เกิดการบาดเจ็บอักเสบเรื้อรัง กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น

3. การทำงานด้วยท่าที่ไม่ถูกต้อง อาการปวดกระดูกสันหลังมักพบได้บ่อยในวัยคนทำงานที่ต้องนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ หากนั่งด้วยท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง นั่งหลังงอ ไหล่ห่อ ก้มคอเข้าหาจอคอมพิวเตอร์ ก็ทำให้ปวดกระดูกสันหลังได้ หรือการยกของหนักๆด้วยการท่าก้ม การแบกหามของหนักนานๆ จะทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากกกว่าปกติ จะทำให้หมอนรองกระดูกเลื่อนหรือแตกได้

4. การละเลยไม่ใส่ใจกับโรคที่ตนเองเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่อาจส่งผลต่อกระดูก ทำให้มีอาการปวดกระดูก กระดูกเสื่อมและเนื้อเยื่ออักเสบ เช่นโรคเก๊าท์ หรือมะเร็ง ยิ่งถ้าอาการกำเริบบ่อยๆก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆกระดูกก็จะถูกทำลายโดยตรง หรือโรคก็จะลุกลามเข้ากระดูก

การดูแลกระดูกของตนเองคงไม่ใช่เรื่องยากหากเรามีความตั้งใจและใส่ใจกับสุขภาพตนเอง เริ่มจากการลดน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกินมาตรฐาน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายก็สามารถช่วยลดน้ำหนักได้แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไปอาจเป็นการทำลายกระดูก เร่งให้กระดูกเสื่อมเร็วขึ้นแทนที่จะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำร้ายกระดูก เช่น ท่านั่ง การใส่รองเท้าส้นสูง หันมารับประทานอาหารที่ช่วยเสิรมสร้างกระดูกในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กระตุ้นโรคที่เป็นอยู่ และหากมีอาการผิดปกติปวดกระดูกหรือเกิดการอักเสบกล้ามเนื้อควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะและทำการรักษาต่อไปคะ

ข้อมูลอ้างอิง

วิ่งออกำลังกายปวดข้อทำอย่างไร : thaihealth.or.th
ไม่อยากเผชิญกับการปวดหลังต้องไม่อ้วน : lanna-hospital.com
โอย ปวดหลังจัง : si.mahidol.ac.th
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน : ccmed.up.ac.th