โรคโมยาโมยา โรคร้ายที่ไม่สามารถป้องกันได้ และรักษาไม่หาย

451

โรคโมยาโมยา คือโรคอะไร? คนส่วนมากแทบไม่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อโรคนี้กันเสียด้วย โมยาโมยา แปลว่าควันบุหรี่ แล้วทำไมจึงเรียกว่า ควันบุหรี่ หลายข้อสงสัยจะถูกไขให้กระจ่างกันคะ

โรคโมยาโมยา

ภาพจาก : nashvilleneurosurgery.com

โรคโมยาโมยา (Moyamoya disease) เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดสมองแคโรติดบริเวณหลอดเลือดสมองที่อยู่ในส่วนใต้สมอง คำว่า “โมยาโมยา” เป็นภาษาญีปุ่น ซึ่งหมายความว่า “ควันบุหรี่” เพราะลักษณะของภาพรังสีของหลอดเลือดสมอง มีลักษณะคล้ายควันบุหรี่ เนื่องจากมีการอุดตันจึงมีหลอดเลือดข้างเคียงมาช่วยเลี้ยงสมองที่อุดตัน ลักษณะของหลอดเลือดข้างๆที่มีจำนวนมากและขนาดเล็ก จึงมองคล้ายกลุ่มควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศนั้นเอง สำหรับอุบัติการณ์ของโรคนี้เกิดน้อยมาก เฉลี่ย1 ใน 1,000,000 คนก็ว่าได้ แต่พบมากในประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นประชากร 3 คน/100,000คน และมักพบในผู้หญิง ตั้งแต่อายุ 5-40 ปี

พบปัจจัยหลายอย่างของการเกิดโรคโมยาโมยานี้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมในโครโมโซม17 หรืออาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น โรคกลุ่มอาการดาวน์ โรคเนื้องอกทางพันธุกรรม โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดแดงไตตีบ ผู้ที่เคยฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง เป็นต้น

สำหรับอาการของโรคโมยาโมยานั้น จะเกิดการหนาตัวของกล้ามเนื้อในผนังหลอดเลือดสมอง และค่อยๆทำให้หลอดเลือดสมองตีบ ส่งผลให้เลือดมาเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดภาวะขาดเลือด หรือหลอดเลือดอาจโป่งพองเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดแตกและมีเลือดไหลออกในสมองได้ อาการที่พบแรกเริ่มและพบบ่อยที่สุดคืออาการอ่อนแรงครึ่งซีก เคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกาย ปวดศีรษะ ชัก(มักเกิดจาการรับประทานอาหารรสเผ็ด) และมีปัญหาด้านความจำ อย่างไรก็ตามอาการแสดงของผู้ป่วยจะแตกต่างกันไประหว่างกลุ่มผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับภาวะการอุดตันของหลอเลือดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งหากเกิดภาวะแทรกซ้อน อาการก็จะรุนแรงขึ้น

หากผู้ป่วยยังไม่มีอาการรุนแรงก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้ และลักษณะภาพ MI ยังไม่แสดงความผิดปกติมากอาจใช้ยาบางชนิดเพื่อรักษา เช่น ยากลุ่มแอสไพริน ยาป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด เป็นต้น แต่สำหรับคนที่มีอาการรุนแรงจำเป็นที่แพทย์ต้องทำการผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดสมองระหว่างหลอดเลือดที่ปกติกับหลอดเลือดที่อุดตันที่อยู่บริเวณหนังศีรษะหรือบริเวณกะโหลกศีรษะ เพื่อเป็นการทำให้เลือดไหลผ่านไปได้ดีขึ้นสามารถไปเลี้ยงสมองได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้นทานยาสลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือดตลอดชีวิต ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด คะ นอกจากนี้ยังต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น อัมพาต ข้อยึดติด แผลกดทับ ภาวะติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและทางเดินปัสสาวะ และภาวะซึมเศร้า

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคโมยาโมยา สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด มาพบแพทย์ตามหมายนัดเสมอ ไม่ควรซื้อยามาทานเอง รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งอาจจะทำปฏิกิริยากับยาสะลายลิ่มเลือดได้คะ หากมีปัญหาในการเคลื่อนไหวก็ควรระวัง อย่าให้ล้ม กระแทก โดยเฉพาะที่ศีรษะ เพราะอาจทำให้เลือดออกในสมองได้ง่าย หมั่นทำกายภาพบำบัดอยู่เสมอเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพและป้องกันภาวะแทรกซ้อน อย่าง แผลกดทับ ข้อยึด และที่สำคัญต้องหันมาใส่ใจกับตนเองให้มากๆ หากมีความผิดปกติจากที่เคยเป็น ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

ถึงแม้ว่าโรคโมยาโมยานี้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยากมาก แต่เราก็ไม่ควรประมาทคะ เพราะโรคโมยาโมยาเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ ไม่มีวัคซีนให้ฉีด เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องรักษากันไปตลอดชีวิต ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐสุดของชีวิตมนุษย์แล้วคะ

ข้อมูลอ้างอิง
ทำความรู้จักโรคโมยาโมยา ควันบุหรี่ที่คุกคามสมอง : manager.co.th
โรคโมยาโมยา : haamor.com
การศึกษาย้อนหลัง 10 ปีโรคโมยาโมยาในผู้ป่วยเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี : childrenhospital.go.th
โมยาโมยา โรคร้ายที่ควรรู้ : med.mahidol.ac.th