โรคงูสวัด Herpes Zoster อาการ สาเหตุ การรักษา

401

งูสวัดเป็นแล้วต้องตายแน่ๆ จริงหรือ? “ระวังนะหากมันพันรอบตัวแล้วจะต้องตาย” คำกล่าวโบราณที่บอกไว้เกี่ยวกับ โรคงูสวัด เป็นความเชื่อที่พูดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น แต่แท้จริงแล้วโรคนี้จะสามารถเกิดจนพันรอบตัวได้จริงหรือไม่

โรคงูสวัด

เนื่องจากโรคงูสวัดเป็นโรคที่เกิดตามแนวเส้นประสาท ซึ่งมีแนวสิ้นสุดที่บริเวณกึ่งกลางตัวเท่านั้น ในคนที่มีภูมิปกติจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดผื่นพันรอบตัว แต่ในกรณีคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก อาจทำให้เกิดผื่นงูสวัดได้พร้อมกัน 2 ข้างทำให้ดูเหมือนงูพันตัวรอบจริงๆ ยิ่งถ้ามีอาการรุนแรงจะเกิดผื่นแบบกระจาย ลุกลามเข้าสมองและอวัยวะภายใน อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุการเกิดโรคงูสวัด

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาซอลไวรัส (Varicella virus) หรือ วีแซด เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วแต่เชื้อไวรัสชนิดนี้ยังคงฝังตัวอยู่ในร่างกายตามปมประสาทใต้ผิวหนังของเราเป็นเวลานานหลายสิบปี เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเราอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ เชื้อที่แฝงอยู่จะเพิ่มจำนวน ทำให้ปมประสาทอักเสบ เกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท และเกิดตุ่มน้ำใสๆเรียงตัวเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาทเช่นกัน มีลักษณะคล้ายๆกับรูปร่างงู จึงเรียกว่า “งูสวัด” (Herpes Zoster)

โรคงูสวัดก็คล้ายกับโรคอีสุกอีใสที่สามารถติดต่อกันด้วยการสัมผัสในช่วงที่มีผื่นน้ำใสและช่วงตุ่มน้ำแตก สำหรับคนที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสถ้าไปสัมผัสกับคนไข้ที่เป็นโรคงูสวัดก็จะเป็นโรคอีสุกอีใสก่อนคะ

อาการของโรคงูสวัด

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดมักมีอาการคล้ายคนเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เจ็บ แสบ ร้อนบริเวณผิวหนัง หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีผื่นสีแดง เป็นทางยาวตามแนวเส้นประสาทของร่างกาย มักเกิดขึ้นใกล้ๆกลางลำตัว ส่วนอื่นก็สามารถพบได้ เช่น แขน ขา ตา หู และมีอาการคันร่วมด้วย หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆ แล้วตกสะเก็ด ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะหายไปเองคะ สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว อย่าง โรคเอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือกลุ่มคนที่รับยาเคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน ผื่นจะมีความรุนแรงและมีแนวที่กว้างขึ้นกว่าคนปกติ

การรักษาเมื่อเป็นโรคงูสวัด

การรักษาโรคงูสวัดนั้น หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันปกติแพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น ให้ทานยาต้านไวรัส หรือยาแก้ปวด เนื่องจากสามารถหายได้เอง แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำมากหรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ควรจะได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48-72 ชั่วโมง เพื่อลดความรุนแรงของโรครวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ยาต้านไวรัสที่แพทย์จ่ายให้เพื่อลดการอักเสบเท่านั้นและทำให้เชื้อไวรัสกลับไปฝังตัวที่ปมประสาทเหมือนเดิม ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้นะคะ การรักษาโรคงูสวัดหากตรวจพบได้เร็วก็จะช่วยให้ปมประสาทอักเสบน้อยที่สุดทำให้อาการเจ็บหลังจากเกิดโรคน้อยตามไปด้วย

เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะดูแลตัวเองอย่างไรดีให้หายเร็วๆ แค่คุณหมั่นรักษาความสะอาดแผลในระยะตุ่มใสให้สะอาดด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเกลืออุ่นๆหรือกรดบอริค 3% ประคบไว้นาน 5-10 นาที ทำวันละ 3-4 ครั้ง และในช่วงที่ตุ่มแตกก็ต้องระวังการติดเชื้อควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาดแล้วปิดแผลไว้ ไม่เกาหรือแกะตุ่มเพราะจะทำให้แผลกลายเป็นหนอง แผลหายช้า และ กลายเป็นแผลเป็นได้ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังอยู่เป็นประจำ และที่สำคัญควรพักผ่อนให้เพียงพอ

ถึงแม้ว่าโรคงูสวัดจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่หากพบว่าเป็นเสียแต่เนินๆแล้วทำการรักษา ก็จะสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนคือ อาการปวดตามแนวเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต่อเนื่อง ปวดแสบปวดร้อน ปวดแปลบๆเหมือนถูกมีดแทง หรือปวดเมื่อถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ซึ่งอาการปวดนี้จะหายไปได้เอง แต่จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่การอักเสบของปมประสาทว่ามากหรือน้อยคะ รวมถึงอายุ ภูมิคุ้มกันร่างกายและอื่นๆ

ปัจจุบันนี้มีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดแล้วนะคะ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคและหากเกิดโรคก็จะไม่รุนแรงคะ

ข้อมูลอ้างอิง
โรคงูสวัด : medicthai.com
ป้องกันอันตรายจากโรคงูสวัด : komchadluek.net
โรคงูสวัด: si.mahidol.ac.th