หลังจากที่มีงานวิจัยพบว่า “ไมโครพลาสติก” ที่กระจายอยู่สิ่งแวดล้อม สามารถพบได้ทั้งในดิน น้ำ อากาศ หรือแม้แต่ที่ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ก็พบไมโครพลาสติกได้ และหากไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา ถือว่าเป็นภัยเงียบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตบนโลก
ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ
อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติก ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน
ไมโครพลาสติกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติก เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน (Plastic scrub) ซึ่งมักเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดสครับ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล
2.Secondary microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานแล้วการย่อยสลายหรือแตกหัก กระบวนการย่อยสลายจะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำแ ละทะเล
ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์
ผลวิจัยและการทดสอบพบว่า ไมโครพลาสติกในร่างกาย สามารถเดินทางไปได้ในทุกๆ ส่วน ผ่านทางหลอดเลือดในร่างกายมนุษย์ และอาจจะไปสะสมอยู่ที่อวัยวะภายในส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้
- รบกวนฮอร์โมนในร่างกาย ไมโครพลาสติกมีสาร Bisphenol A (BPA) อาจเข้าไปรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีผลกระทบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ
- เด็กมีพัฒนาการลดลง สาร BPA มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและระบบประสาทลดลง
- ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เนื่องจากไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กเท่าแบคทีเรียอาจเข้าสู่กระแสเลือด และปิดกั้นทางเดินเลือดได้
- เกิดโรคมะเร็ง หากไมโครพลาสติกฝังเข้ากับเนื้อเยื่อในร่างกาย อาจปล่อยพิษหรือโลหะหนักที่ติดจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เนื้อเยื่อ
- เป็นตัวกลางนำสารพิษ ไมโครพลาสติกมีคุณสมบัติที่สามารถดูดซับ อุ้มน้ำได้ จึงสามารถเก็บเอาสารพิษบางประเภท และเมื่อจมอยู่ในทะเลก็จะกลายเป็นอาหารของสัตว์เล็ก เมื่อนำมากินก็จะได้รับสารพิษตกค้างจากสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน
ไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ และที่สำคัญเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมากเพียงใดแล้ว ดังนั้นการลดการใช้พลาสติกน่าจะเป็นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด