ประกันสังคม ใครทำได้บ้าง

442

มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา คงคุ้นเคยกับประกันสังคมกันอยู่แล้ว โดยประกันสังคมเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตสำหรับผู้ที่มีรายได้และได้มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ก็เพื่อให้ผู้ประกันตนอย่างเรามีสวัสดิการเมื่อเราเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ยามชราภาพและเมื่อเกิดตกงาน ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว บริษัทที่เราทำงานอยู่มักจะดำเนินการหักเงินจ่ายประกันสังคมให้เรา แต่คุณทราบหรือไม่คะผู้ที่ไม่ได้ทำงานในระบบบริษัทก็สามารถได้รับสิทธิประกันสังคมได้เช่นกัน

ผู้เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมมีด้วยกัน 3 กลุ่มคือ 1)ผู้ประกันตนเป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี แต่หากนายจ้างยังจ้างทำงานต่อให้ถือว่าเป็นผู้ประกันตนต่อไป 2)นายจ้างคือผู้ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ได้ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนลูกจ้าง และ 3) รัฐบาล โดยทั้ง 3 กลุ่มจะจ่ายเงินสมทบส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนในอัตราส่วนที่ต่างกันไปข้อกำหนด

ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมได้แบ่งผู้ประกันตนไว้ 3 กลุ่ม คือ

1. พนักงานเอกชนทั่วไป เป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ ตามมาตรา 33 ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนังงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี โดยจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในสัดส่วนนายจ้าง 5  % ลูกจ้าง 5% และรัฐบาล 2.75 % ของฐานเงินค่าจ้าง โดยเงินค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ผู้ประกันตนในระบบภาคบังคับจะได้รับการคุ้มครอง 7 กรณี คือ เจ็บป่วยและอุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์ กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

2. คนที่เคยเป็นพนักงานแต่ลาออกแล้ว เป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจ ตามมาตรา 39 แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน มาตรา 33 คุณสมบัติของผู้ประกันตนในกลุ่มนี้คือ ต้องเป็นผู้ประกันตนในภาคบังคับมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ โดยผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน 432 บาท/เดือน และรัฐบาลจะให้เงินสมทบ 120 บาท/เดือน ผู้ประกันตนภาคสมัครใจนี้จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วยและอุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์ และกรณีชราภาพ ซึ่งจะน้อยกว่าผู้ประกันตนภาคบังคับ 1 กรณี

3. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ/แรงงานนอกระบบ เป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจตามมาตรา 40 จะต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33  และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ซึ่งผู้ประกันตนในภาคสมัครใจแบบนี้สามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้เอง 2 แบบ คือ

  • ความคุ้มครอง 3 กรณี ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน และรัฐบาลจ่ายสมทบให้อีก 30 บาท ผู้ประกันจะได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง ดังนี้ กรณีเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต
  • ความคุ้มครอง 4 กรณี ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ 100 บาท และรัฐบาลจ่ายอีก 50 บาท  โดยผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ กรณีเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีชราภาพ

ประกันสังคมมีลักษณะคล้ายกับการทำประกันสุขภาพ เพียงแต่เราจ่ายเพียงเงินไม่มากแต่เราก็สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาจากโรงพยาบาลในตนเองประกันตนไว้  ซึ่งทำให้ประชาชนอย่างเราอุ่นใจยามเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ แต่ต้องไม่เกี่ยวกับงานนะคะ เพระจะไปเข้าอีกหลักประกันหนึ่งของรัฐ หรือแม้แต่ยามชราภาพก็จะมีเงินใช้รายเดือนด้วยนะคะ

เห็นไม่คะว่าการที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมนั้นไม่จำเป็นต้องทำงานบริษัทแต่เพียงอย่างเดียว เพียงคุณเข้าใจหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง และตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองว่าตรงตามที่กำหนดหรือไม่ และควรศึกษาสิทธิประโยชน์ที่ตนพึงได้จากประกันสังคม จะได้ไม่เป็นการจ่ายเงินไปโดยเปล่าประโยชน์คะ

ข้อมูลอ้างอิง

สิทธิประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่คนทำงานควรรู้และต้องได้รับ!: flowaccount.com
ผู้ประกันตนมีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร: th.jobsdb.com
เรื่องของประกันสังคม ประกันตนเอง ที่มนุษย์เงินเดือนต้องรู้: today.line.me
ประกันตนเองโดยสมัครใจ มาตรา 39 คืออะไร สิทธิประโยชน์ดีอย่างไร ใครมีสิทธิ์สมัครบ้าง: winnews.tv